ความเป็นมาการฝึกอบรมพระธรรมทูต

ความเป็นมาการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ

โครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศได้จัดขึ้นร่วมกันทั้งสองนิกายในระหว่างปี  พ.ศ.  ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ และได้หยุดลงด้วยเหตุปัจจัยจำเป็นบางประการ  แต่ความต้องการพระธรรมทูตไปต่างประเทศกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา  งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเริ่มเมื่อ  พ.ศ.  ๒๕๑๓  แล้วมีการตั้งวัดเป็นบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่ง  เมื่อวันที่  ๖  กรกฎาคม  ๒๕๑๔  ต่อมาวัดไทยเริ่มมีจำนวนมากขึ้น  โดยเฉพาะ  เมืองใหญ่ ๆ  เช่น นิวยอร์ก  วอชิงตัน  ดีซี  ชิคาโก  ลอสแองเจลลิส
เมื่อพระสงฆ์ไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่างแดนมากขึ้น  แต่ทว่าการจัดฝึกอบรมได้ชะงักลงไปแล้ว  มหาเถรสมาคมภายใต้การสนับสนุนของกรมการศาสนา จึงให้มีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ มอบให้สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ)  กรรมการมหาเถรสมาคม  เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์มหานิกาย  และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  (ประจวบ       กนฺตาจาโร)  กรรมการมหาเถรสมาคม  เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย  พระมหาเถระทั้งสองได้มอบภาระงานนี้ แก่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยลำดับเป็นหน่วยงานดำเนินการ  กรมการศาสนาสนับสนุนงบประมาณจำนวนแห่งละสองแสนกว่าบาทในการดำเนินการโครงการนี้  จึงเริ่มมีการฝึกอบรมเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง  นับตั้งแต่ปี  พ.ศ.  ๒๕๓๘  จนถึงปัจจุบัน  โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันในการดำเนินงานคือ
๑.  เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ความสามารถ  จริยาวัตรอันงดงาม  และความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศยิ่งขึ้น
๒.   เพื่อเตรียมพระธรรมทูต  ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไปต่างประเทศ
๓.   เพื่อสนองงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย

โครงการบัณฑิตศึกษา ทั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย  (มมร.) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  (มจร.) ที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุ เข้ามาศึกษาในระดับปริญญาโท  ตั้งแต่ปีการศึกษา  ๒๕๓๑  นั้นก็คืองานสืบสาน  โครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทยนั่นเอง  แต่เป็นการศึกษาในรูปหลักสูตรศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (ศน.ม.)  และหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) โดยเฉพาะหลักสูตร ศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของ  มมร.  มีสาขาวิชา พุทธศาสนนิเทศ  (BUDDHIST  MISSION  PROCESS)  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า  BUDDHISH  STUDIES  (พุทธศาสน์ศึกษา)  มีจุดประสงค์ให้ผู้สำเร็จการศึกษาไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ  แต่ทว่ามิได้มีการส่งผู้สำเร็จการศึกษาออกไป  เพราะขาดการประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทย ทำให้ไม่มีการพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมและการส่งพระธรรมทูตอย่างเป็นรูปธรรม  จนเป็นเหตุให้มหาเถรสมาคมมีมติให้ดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตอีกวาระหนึ่ง  นับแต่ปีพุทธศักราช  ๒๕๓๘  เป็นต้นมา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  (มจร.) ได้จัดให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ปีละ ๑ ครั้ง เริ่มอบรม รุ่นที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จำนวนผู้ผ่านการอบรม ๔๙ รูป มีการอบรมมาถึงรุ่นที่ ๒๐ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เมื่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีประกาศการจัดตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูตขึ้น โดยมีพระโสภณวชิราภรณ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต โดยความร่วมมือกับสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และองค์กรความร่วมมือต่างๆ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมต่อเป็นรุ่นที่ ๒๑ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน ๙๘ รูป รุ่นที่ ๒๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน ๑๑๑ รูป รุ่นที่ ๒๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน ๑๑๒ รูป รุ่นที่ ๒๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน ๑๒๔ รูป  รุ่นที่ ๒๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน ๑๓๑ รูป รวม ๒,๐๒๕ รูป (พ.ศ. ๒๕๖๒) ได้จัดฝึกอบรมไปแล้ว ๒๕ รุ่น ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลก มีจำนวนวัดในต่างประเทศถึง ๓๙ ประเทศ

พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน ๑๒๐ รูป เมื่อรวมสถิติการฝึกอบรมพระธรรมทูตตั้งแต่รุ่นที่  ๑ – ๒๖ รวมมีจำนวน ๒,๑๔๕ รูป

.

ข้อมูล ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๓ /วิทยาลัยพระธรรมทูต มจร

This will close in 20 seconds

Scroll to Top